วิธีเปลี่ยน’เด็กเกเรและดื้อ’ให้เป็น’เด็กดี’ของหมอสุริยเดว

ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำผู้คนหลงลืมความสำคัญของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน มีเมตตาเอื้ออาทรต่อกัน ไม่ทำร้ายกันด้วยความเห็นแก่ตัว รวมเรียกว่า คุณธรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังให้กับมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะช่วงวัยที่กำลังก่อร่างสร้างความคิดนั่นก็คือวัยเด็กคำว่า คุณธรรม ฟังดูแล้วเป็นนามธรรม แต่สามารถทำให้เป็นรูปธรรมได้ด้วย การสร้างสรรค์กิจกรรมขึ้นมา

“คุณธรรมกับเด็กเล็กๆ เราสามารถทำให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ ทุกท่านสามารถทำได้ ตอนที่หมออยู่ที่โรงพยาบาลเด็ก เราพัฒนาโมบายยูนิต เตียงพูดได้ มีหุ่นพัพเพ็ทโชว์ เป็นรถเข็น ที่น้องๆ นักเรียนพยาบาลจะเข็นไปที่เตียงคนไข้เด็กตัวเล็กๆ ทั้งหลายเลย แล้วก็เล่านิทานให้เขาฟัง ให้เขารู้สึกว่า ที่เขากำลังป่วยอยู่นั้น ยังมีคนสนใจเขา แคร์ความรู้สึกของเขา ให้ความสุขเขา อยากให้หายป่วยไวๆ”

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ สุริยเดว ทริปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวในงานเปิดตัวกิจกรรมปลูกฝังการอ่าน My Moral โครงการปลูกฝังคุณธรรมให้กับเด็กไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน ในงานมหกรรมหนังสือแห่งระดับชาติ ครั้งที่ 25 ณ อิมแพคเมืองทองธานี ซึ่งใจความสำคัญของเหตุการณ์นั้นอยู่ที่สิ่งที่เด็กมีให้ต่อกัน

“มันมีภาพงดงามปรากฏขึ้น เตียงข้างๆ มีเด็กที่กำลังหอบหืดอยู่ พอพ้นจากอาการหอบหืดเสร็จปุ๊บ เขาก็นั่งวาดรูปบนหนังสือการ์ตูนของเขา ด้วยสไตล์ของเขา แล้วรูปที่ดีที่สุด เราเอาไปแปะบน OPD Chart ของคนไข้ เวลาหมอไปดูแลคนไข้แต่ละคนก็จะเปิดชาร์ตนั้น ที่รพ.เด็กตอนนั้นมันกลายเป็นสีสัน คนที่วาดรูปนั้นคือเด็กเล็กๆ เจ้าของไข้นั่นเอง รูปของแต่ละคนเขาก็จะรู้ทันทีเลยว่า นี่คือชาร์ตของฉัน หมอกำลังเปิดของฉันอยู่

ความงดงามเกิดขึ้นภายใต้การรักการอ่าน เด็กที่หอบหืดอยู่นั้น นอกจากวาดภาพของตัวเองเสร็จแล้ว ยังวาดเผื่อมาที่เด็กอีกคนซึ่งกำลังนอนเตียงอยู่ข้างๆ ไม่สามารถวาดรูปได้ คุณธรรมมันเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมตรงนั้นเลย มีการแบ่งปัน เอื้ออาทร ทั้งๆ ที่เป็นเด็กที่เจ็บไข้ได้ป่วย”

นอกจากเด็กเล็กแล้ว เด็กโตก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกัน ในตอนที่คุณครูโรงเรียนหนึ่งพาเด็กโตที่เป็นจิตอาสามาที่โรงพยาบาลเด็ก เขาได้คัดแยกเด็กโตไว้แล้วว่า กลุ่มนี้ให้อยู่กับคน กลุ่มนี้ไม่ให้อยู่กับคน แต่หมอได้ตอบว่า เราไม่มีวิธีการแบบนั้น ให้หมอเลือกเด็กที่เฮ้วที่สุดที่คิดว่าเกเรที่สุดมาให้หนึ่งคน

 

“หมอพาไปอยู่วอร์ดที่มีรถเข็นพัพเพ็ทหุ่นมือไซส์เล็กสามารถเล่านิทานให้เด็กฟังได้ แยกตามเตียงได้ด้วย แล้วแต่ว่าเด็กแต่ละคนเขาชอบอะไร ที่แขวนเสาน้ำเกลือทั้งหลายเราก็แปรรูปให้กลายเป็นห้องที่สามารถสื่อสารกับเด็กได้ เด็กสามารถเล่นของเล่นได้อย่างที่ตัวเองใจชอบ เลือกอะไรได้หมด

มีเด็ก HIV ที่รู้ว่าอีกอาทิตย์หนึ่งเขาจะเสียชีวิตก็ขอมาเสียชีวิตที่นี่ เพราะเขารักและผูกพันกับของเล่น กิจกรรมเหล่านี้สามารถเปลี่ยนเด็กเฮ้วได้ จนครูขอมาพบหมออีกทีว่าหมอไปทำอะไรเขา เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคนเลย เพราะฉะนั้นคุณธรรมเป็นเรื่องที่จับต้องได้”

น้ำใจในวัยเด็ก
เราสามารถสร้างสรรค์เหตุการณ์ให้เด็กได้เรียนรู้คุณธรรมได้แม้กระทั่งเป็นเด็กอนุบาล มีครั้งหนึ่งที่โรงเรียนอนุบาลศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย ที่มีทั้งเด็กเล็ก (เด็กระดับบริบาล) และเด็กโต เด็กอนุบาล 1-2-3 โรงเรียนได้ขึงตาข่ายขวางทางไว้ เมื่อพ่อแม่มาส่งลูกที่โรงเรียน ทุกคนก็ต้องหิ้วกระเป๋าของตัวเองเดินเข้าไป

“เด็กอนุบาล 1-2 พี่อนุบาลก้าวข้ามตาข่ายที่ขึงไว้ผ่านไปได้ แต่เด็กตัวเล็ก เด็กบริบาลเดินมา ข้ามไม่ได้ ก็เลยเรียกพี่ให้ช่วยกลับมาจูงมือน้องข้ามไป เราได้เห็นถึงความเสียสละของพี่ที่ก้าวข้ามไปแล้ว กลับมาเดินก้าวข้ามใหม่ แล้วโจทย์ก็ยากขึ้นคือต้องจูงมือน้องข้ามไป

ความงดงามในจิตใจ เรื่องของคุณธรรมมันเกิดขึ้นแบบจับต้องได้เลยฮะ แล้วพฤตินิสัยแบบนี้พอถูกปลูกฝังไปอย่างต่อเนื่อง พ่อแม่กลับมาเล่าให้ฟังเลยว่า เดี๋ยวนี้ลูกเป็นคนที่มีความเอื้ออาทร ลูกๆ พร้อม ที่จะเป็นจิตอาสา น้ำใจแบ่งปันได้เลย”

การปลูกฝังเด็กให้มีคุณธรรมจึงเป็นเรื่องที่สามารถสร้างได้ ด้วยการสร้างสถานการณ์ให้เขาได้เรียนรู้ มีปรากฎอยู่ในหลักสูตร เป็นตัวอย่างกิจกรรมที่ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจน

“ครั้งหนึ่งครูให้เด็กวาดรูปบนโต๊ะ เขาวาดรูปเก่งมาก สัปดาห์ถัดมา คุณครูขึงลวดให้กระดาษลอยบนอากาศแล้วให้เด็กวาดรูป วาดรูปบนอากาศนี่มันไม่นิ่งฮะ เกิดปรากฏการณ์กับเด็กๆ คือ บางคนลงไปดิ้นอาละวาดไม่พอใจ ร้องไห้ เด็กบางคนนั่งลงเลย บอกว่าครูแกล้ง

แต่มีเพื่อนกันเอง เพื่อนเด็กๆ มาปลอบเพื่อนว่า หยุดร้องเหอะ เดี๋ยวเขาจะช่วยวาดให้ ความงดงามของคุณธรรมมันเกิดขึ้นบนโจทย์ความยากลำบาก ครูมีหน้าที่เกื้อหนุนให้เขาสามารถทำได้ แล้วให้เขารู้จักการขอบคุณ ขอโทษ เราไปช่วยเพื่อนของเราให้ทำให้สำเร็จ เพื่อนก็รู้จักขอบคุณตัวเรา คุณธรรมมันเกิดขึ้นบนพฤตินิสัยในลักษณะนี้เลย นี่เป็นแนวคิดหลักสูตรประถมวัยตามแนวทางพระราชดำริสมเด็จย่า”

มนุษย์กับหุ่นยนต์
ในโลกอนาคตเราอาจจะต้องเจอกับหุ่นยนต์มากขึ้น แต่สิ่งที่จะทำให้มนุษย์แตกต่างจากหุ่นยนต์ได้นั้นมี 5 ประการ สามารถนำ 5 ข้อนี้ไปพัฒนาลูกหลานต่อไปได้

“ข้อหนึ่ง จินตนาการ โรงเรียนไหนก็ตาม ทำลายซึ่งจินตนาการ ท่านกำลังฝึกลูกของท่านให้เป็นหุ่นยนต์ ข้อสอง. สายใยรัก คำว่ารักหมายถึงร่วมทุกข์ร่วมสุข ตอนแม่อุ้มท้อง แม่อ๊วก โอ๊ก อ๊าก ไม่ได้สบายตัวเลย แต่มีความรู้สึกปีติยินดีที่ลูกกำลังจะคลอด วินาทีที่แม่กำลังคลอดลูก เป็นวินาทีแห่งความเจ็บปวดชนิดที่ผู้ชายอกสามศอกทนไม่ได้คูณเข้าไป 3-5 เท่า ทันทีที่ได้ยินเสียงลูกตัวเองร้องแล้วเอาลูกมาซบหน้าอกดูดนมแม่ นั่นคือสายใยรักที่เกิดขึ้น ทางการแพทย์ใช้คำว่ารักเทหมดใจไม่มีเงื่อนไขต่อให้ลูกพิการก็เทหมดใจ

มีบ้านไหนบ้างที่เลี้ยงลูกแล้วให้ลูกร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับครอบครัวไปด้วย ให้ลูกๆ ได้มีโอกาสเช็ดปัดกวาดถูบ้านซักผ้าล้างจาน ทุกวันนี้แม้แต่เด็กวัยรุ่นโตแล้ว กางเกงในตัวเองยังไม่ซักเลย พ่อแม่ลืมบางเรื่องไปว่ารักไม่ใช่สำลักความรัก แต่เป็นรักร่วมทุกข์ร่วมสุข

ข้อสาม. จิตสำนึก ตอนหมอไปโยโกฮาม่า หมอยืนอยู่ถนนตรงกันข้าม เห็นคู่สามีภรรยา อายุ 70 กว่า ขอข้ามถนนก็เลยกดปุ่มหยุดไฟแดง รถหยุดวิ่งหมดเลย คู่นี้ก็ค่อยๆ ต้วมเตี้ยม อายุเยอะแล้ววิ่งไม่ได้ เตาะแตะ ข้ามมาได้ครึ่งถนน ไฟเขียวให้รถวิ่ง ถ้าเป็นบ้านเราไม่มีจิตสำนึกจะเกิดอะไรขึ้น แต่ภาพที่เห็น รถทุกคันนิ่งหมดเลย ไม่มีใครกดแม้แต่แตรสัญญาณ รอให้คู่สามีภรรยานี้ก้าวข้ามถนนสำเร็จ

ท่านไปสาย แต่สายของท่าน คือหัวใจแห่งคุณธรรม นั่นคือข้อที่สี่.คุณธรรม ข้อสุดท้าย.ศรัทธา แรงบันดาลใจ ถ้าเราสามารถแปรรูปคุณธรรมจากนามธรรมที่เราคิดว่าจับต้องไม่ได้ให้กลายเป็นรูปธรรมได้ ถ้าเราปลูกฝังตั้งแต่วันนี้ มันติดตัวยาว เราจะได้คุณภาพพลเมืองที่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ครับ”

ที่มาข้อมูล : www.bangkokbiznews.com
หากสนใจเรื่องราวอื่น ๆ สามารถติดตามอ่านต่อได้ที่ photography-resources.com